วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กระดาษไม่เปียก

อากาศที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดทั้งไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และที่สำคัญสำหรับการดำรง ชีวิตของมนุษย์และบรรดาสัตว์ต่าง ๆ คือ ก๊าซออกซิเจน และยังมีก๊าซอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่กระจายตัวอยู่ในอากาศ พื้นที่ส่วน ใหญ่บนโลกล้วนแล้วแต่มีอากาศอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีปริมาณอากาศมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าอากาศนั้นอยู่รอบตัวเรา และยังมีแรงดันมหาศาลอีกด้วย กับการทดลอง ตอน “อากาศนั้นต้องการที่อยู่”
อุปกรณ์
1. แก้วน้ำใส 1 ใบ
2. กระดาษทิชชู่
3. เทปใส
4. อ่างน้ำบรรจุน้ำเกือบเต็ม
วิธีการทดลอง
1. ยึดกระดาษทิชชู่ให้ติดกับก้นแก้วด้านในด้วยเทปใส
2. คว่ำปากแก้วแล้วกดลงในน้ำตรง ๆ ให้แก้วน้ำทั้งใบจมอยู่ใต้น้ำ อย่าให้แก้วเอียง น้ำอาจเข้าไปในแก้วได้ 3. นับ 1 – 10 แล้วค่อย ๆ ยกแก้วน้ำที่คว่ำอยู่ขึ้นมาตรง ๆ
ผลการทดลอง
เมื่อคลี่กระดาษทิชชู่ที่อยู่ในแก้วน้ำออกมาดู กระดาษไม่เปียกน้ำเลย นั่นเป็นเพราะว่า น้ำในอ่างเข้าไปในแก้วน้ำไม่ได้ เนื่องจากในแก้วมีอากาศอยู่เต็ม และอากาศเหล่านี้จะมีความดันที่จะดันน้ำไม่ให้เข้าไปในแก้วได้ สามารถพิสูจน์ได้ว่าในแก้วมีอากาศอยู่จริง โดยใช้แก้วเปล่าอีกใบหนึ่งที่ไม่มีกระดาษทิชชู ค่อย ๆ คว่ำแก้วลงในน้ำจนแก้วทั้งใบอยู่ใต้น้ำ แล้วลองเอียงแก้ว จะพบว่าบริเวณผิวน้ำจะมีฟองอากาศพุ่งขึ้นมา ฟองอากาศนั้นก็คืออากาศที่เคยอยู่ในแก้วนั่นเอง หลังจากที่อากาศออกมาจากแก้วน้ำแล้ว น้ำในอ่างก็จะเข้าไปอยู่แทนที่ หากทำการทดลองแล้วพบว่า กระดาษเปียก ให้ลองทำดูอีกครั้ง คราวนี้พยายามอย่าเอียงแก้วน้ำ เพราะการเอียงแก้วน้ำจะทำให้น้ำสามารถไหลเข้าไปแทนที่อากาศในแก้วได้ แต่หากกดแก้วลงตรง ๆ การทดลองต้องประสบความสำเร็จแน่นอน

3 ความคิดเห็น: